เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 1.เตมิยชาดก (538)
22. มหานิบาต
1. เตมิยชาดก 1 (538)
ว่าด้วยพระเตมีย์โพธิสัตว์
(เทพธิดาผู้เคยเป็นมารดาพระโพธิสัตว์ในอัตภาพหนึ่ง ปลอบพระโพธิสัตว์ให้
สบายพระทัยแล้ว จึงกล่าวว่า)
[1] ท่านจงอย่าเปิดเผยตนว่าเป็นบัณฑิต
จงให้คนทั้งปวงรู้ว่าเป็นคนโง่
ขอให้คนทั้งหมดจงดูหมิ่นท่านเถิด
ความประสงค์ของท่าน
จักสำเร็จได้ด้วยอาการอย่างนี้
(พระเตมีย์โพธิสัตว์กลับได้ความสบายพระทัยตามคำของเทพธิดานั้น จึงตรัส
ว่า)
[2] แม่เทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน
ที่ได้กล่าวกับข้าพเจ้า
แม่เทพธิดา ท่านเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า
(พระโพธิสัตว์ตรัสถามนายสารถีว่า)
[3] นายสารถี ท่านจะรีบขุดหลุมไปทำไมหนอ
สหายเอ๋ย เราถามท่านแล้ว ท่านจงบอกเรา
ท่านจักทำประโยชน์อะไรกับหลุมเล่า

เชิงอรรถ :
1 เป็นชาดกที่พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการเสด็จออกบรรพชาอันยิ่งใหญ่(ในอดีต)
ได้ตรัสไว้โดยทรงเริ่มต้นด้วยคาถาแรกที่เทวดาผู้สถิตอยู่ที่เศวตฉัตรกล่าวสอนเตมิยกุมารว่า “ท่านจง
อย่าเปิดเผยตนว่าเป็นบัณฑิต” เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. 9/1/1)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :183 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 1.เตมิยชาดก (538)
(สุนันทสารถีได้ฟังคำนั้น ขุดหลุมมิได้เงยหน้าดู จึงกราบทูลว่า)
[4] พระโอรสของพระราชาเป็นใบ้
และเป็นง่อยเปลี้ยขาดความสำนึก
พระราชาตรัสสั่งข้าพเจ้าว่า ควรฝังลูกเราไว้ในป่าช้า
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ ตรัสกับสุนันทสารถีว่า)
[5] นายสารถี เรามิได้เป็นคนหนวก
คนใบ้ คนเปลี้ย และมิได้เป็นคนบกพร่อง1
ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
[6] ท่านจงดูขา แขน และฟังภาษิตของเรา
ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
(สุนันทสารถีไม่รู้ จึงกราบทูลว่า)
[7] ท่านเป็นเทวดา คนธรรพ์
หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
ท่านเป็นใครหรือเป็นบุตรของใคร
พวกเราจักรู้จักท่านได้อย่างไร
(พระเตมีย์โพธิสัตว์เมื่อแสดงตนให้ปรากฏ แสดงธรรมแก่สุนันทสารถีนั้น จึง
ตรัสว่า)
[8] เรามิใช่เทวดา มิใช่คนธรรพ์
ทั้งมิใช่ท้าวสักกปุรินททะ
เราเป็นผู้ที่ท่านจะฝังในหลุม
เป็นโอรสของพระเจ้ากาสี
[9] เราเป็นโอรสของพระราชา
องค์ที่ท่านเข้าไปพึ่งบารมีเลี้ยงชีพอยู่เสมอ
นายสารถี ถ้าท่านพึงฝังเราไว้ในป่า
ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

เชิงอรรถ :
1 คำว่า มิได้เป็นคนบกพร่อง หมายถึงเป็นผู้มีอินทรีย์สมบูรณ์ (ขุ.ชา.อ. 9/5/20)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :184 }